แผ่นดินไหวครั้งใหญ่“ตุรกี” ตอกย้ำปัญหาสิ่งปลูกสร้างเปราะบาง

ทันโลกข่าวต่างประเทศ

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่“ตุรกี” ตอกย้ำปัญหาสิ่งปลูกสร้างเปราะบาง ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก

โศกนาฎกรรมหมู่ที่เกิดจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในตุรกีช่วงเช้าของวันจันทร์(6 ก.พ.) ที่ส่งผลกระทบถึงซีเรีย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตในทั้งสองประเทศจำนวนกว่า 5,000 ราย และคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่านี้ นอกจากจะบอกว่าตุรกีตั้งอยู่ในจุดเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวบ่อยแล้วยังตอกย้ำถึงปัญหาการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงพอจะต้านทานแรงสั่นสะเทือนของภัยธรรมชาตินี้ได้ด้วย

เหตุแผ่นดินไหว 2 ครั้งซ้อนในวันเดียวกัน ที่มีความรุนเเรง 7.5-7.8 แมกนิจูด และอาฟเตอร์ช็อกเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่คาบเกี่ยว ระหว่างประเทศตุรกีและซีเรีย

ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บมีจำนวนรวมเกินหลักหมื่นคน เจ้าหน้าที่ระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากเชื่อว่ายังมีคนจำนวนมากที่น่าจะติดอยู่ใต้ซากอาคารที่ถล่มลงมาหลายแห่ง

ผู้เชี่ยวชาญเตือนมานานแล้วว่า แผ่นดินไหวขนาดใหญ่อาจทำลายล้างกรุงอิสตันบูล เมืองหลวงของตุรกี ซึ่งปล่อยให้มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างเป็นวงกว้างโดยไม่มีมาตรการป้องกันความปลอดภัย

โครงสร้างตึกมีส่วนสำคัญอย่างมากในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว โดย”คาร์เมน โซลานา” นักภูเขาไฟวิทยา จากมหาวิทยาลัยพอร์ทส์มัธของอังกฤษ ให้ความเห็นว่า เนื่องจากแผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่ไม่สามารถคาดเดาได้ อาคารต้านแรงสั่นสะเทือนจึงเป็นสิ่งสำคัญในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

“โครงสร้างสิ่งปลูกสร้างเปราะบาง จึงเกิดความเสียหายเป็นหย่อมๆ บริเวณตอนใต้ของตุรกี โดยเฉพาะพรมแดนติดกับซีเรีย ดังนั้น ความปลอดภัยของชีวิตผู้คนจึงขึ้นอยู่กับความพยายามปกป้องชีวิตผู้คนของอาคารสิ่งปลูกสร้างด้วย” โซลานา กล่าว

ด้าน “บิล แมกไกวร์” นักภูเขาไฟวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน บอกว่า โครงสร้างตึกหลายแห่งในซีเรีย เสื่อมโทรมมานานเพราะการทำสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าสิบปี

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในปี 2542 รัฐบาลตุรกีอนุมัติกฎหมายในปี 2547 มีคำสั่งให้การก่อสร้างใหม่ทั้งหมด ต้องตรงตามมาตรฐานป้องกันแผ่นดินไหวยุคใหม่

“โจแอนนา ฟอเร วอล์กเกอร์” หัวหน้าสถาบันลดความเสี่ยงและภัยพิบัติแห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน เรียกร้องให้รัฐบาลตุรกีตรวจสอบว่า กฎหมายป้องกันเหตุแผ่นดินไหวแก่อาคารที่พักอาศัยได้ถูกนำไปปฏิบัติในเหตุภัยพิบัติล่าสุดนี้หรือไม่ พร้อมทั้งขอให้ตุรกีเปิดเผยถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาความปลอดภัยของตึกเก่า ๆที่มีอยู่จำนวนมาก

ทันโลกข่าวต่างประเทศ

‘หนาวจัด-ฝนตกหนัก’ซ้ำเติมผู้รอดชีวิต

ผู้รอดชีวิตในบางพื้นที่ ต้องเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้าย ทั้งสภาพอากาศที่หนาวจัดและฝนตกหนักซ้ำเติม ทำให้การใช้ชีวิตและปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก

เจ้าหน้าที่กู้ภัยทั้งในประเทศ และทีมกู้ภัยนานาชาติ ยังคงเดินหน้าค้นหาผู้รอดชีวิตที่อาจติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังอย่างเต็มที่ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ประเมินว่า ยอดผู้เสียชีวิตในซีเรียกับตุรกี ผลจากแผ่นดินไหวล่าสุด อาจพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังมีความเสี่ยงที่อาคารจะถล่มลงมาเพิ่มเติม

ขณะที่ข้อมูลของทางการตุรกีระบุว่า มีอาคารพังถล่มมากถึง 5,606 หลัง จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้

ทั่วโลกแห่ให้ความช่วยเหลือ

“สุไลมาน ซอยลู” รัฐมนตรีกิจการภายในประเทศของตุรกี ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติและเตือนภัยแผ่นดินไหวที่ระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด พร้อมเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยขณะนี้ นานาชาติเสนอให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและการเเพทย์แก่ตุรกีมากมาย รวมทั้งจากสหภาพยุโรป (อียู) และองค์การสนธิสัญญาแอตเเลนติกเหนือ (นาโต)

“ยาเนซ เลนาร์ชิช” กรรมาธิการด้านการจัดการภาวะวิกฤติของอียู ทวีตข้อความทางทวิตเตอร์ ระบุว่า ทีมกู้ภัยจากเนเธอร์แลนด์และโรมาเนีย ออกเดินทางไปตุรกีแล้ว โดยศูนย์ประสานการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินของอียู จะเป็นผู้ดูแลการจัดส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัย หลังผู้นำตุรกีร้องขอความช่วยเหลือจากอียู

ส่วนรัฐบาลหลายประเทศที่เป็นสมาชิกอียู ทั้งประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี ก็แสดงความตั้งใจที่จะให้ความช่วยเหลือ เช่นเดียวกับ เบลเยียม โปแลนด์ สเปน และฟินแลนด์ ที่ประกาศว่าพร้อมส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือ

ขณะที่ผู้นำรัฐบาลเซอร์เบียและสวีเดนให้คำมั่นว่า จะส่งทีมกู้ภัย พร้อมสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปช่วยเหลือประชาชนทั้งในตุรกีและซีเรีย แนะนำข่าวเพิ่มเติม>>> นศ.หนุ่มไม่มีเงินซื้อข้าว ผอมลง 10 กิโล ยื่นขอทุนถึงรู้ความจริง ครอบครัวโคตรรวย!!!